Blog

รีไฟแนนซ์บ้านง่ายๆ เพียง 5 ขั้นตอน

สำหรับคนที่กำลังผ่อนชำระบ้านอยู่ อาจรู้สึกว่าภาระผ่อนต่องวดอาจจะหนักเกินไป ดอกเบี้ยชำระต่อเดือนหรือตลอดระยะเวลาผ่อนชำระสูง และอยากลดภาระเหล่านี้ลง “รีไฟแนนซ์บ้าน” เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยผ่อนปรนปัญหาดังกล่าว เพียง 5 ขั้นตอนง่ายๆ

1. ตรวจสอบสัญญากู้เดิม

ขั้นตอนแรกในการรีไฟแนนซ์บ้านก็คือ การตรวจสอบสินเชื่อเดิมก่อนว่า สินเชื่อเดิมถึงกำหนดเวลาที่สามารถยื่นรีไฟแนนซ์บ้านหรือยัง ซึ่งโดยทั่วไปธนาคารจะอนุญาตให้รีไฟแนนซ์หรือไถ่ถอนสินเชื่อเดิมได้เมื่อผ่อนชำระครบ 3 ปี แต่ทั้งนี้ คุณสามารถเตรียมตัว หาสถาบันการเงินอื่นๆ และยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์ได้ก่อน เพราะกระบวนการรีไฟแนนซ์อาจใช้เวลา 1 – 2 เดือนได้

ทั้งนี้ นอกจากการตรวจสอบสัญญากู้เดิมแล้ว คุณควรสอบถามสถาบันที่คุณทำสินเชื่ออยู่แล้วว่าสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ (Retention) ได้หรือไม่ และถ้าได้ สามารถปรับลดลงได้เท่าไร เพื่อที่คุณจะได้นำมาพิจารณาตัดสินใจร่วมกับการหาธนาคารแห่งใหม่รีไฟแนนซ์เพื่อความคุ้มค่าของคุณเอง

2. เลือกธนาคารที่จะรีไฟแนนซ์บ้าน

หลักการการเลือกธนาคารแห่งใหม่เพื่อรีไฟแนนซ์ก็เช่นเดียวกับการเลือกธนาคารทำสินเชื่อ นั่นคือ เลือกที่ที่จะให้ผลที่คุ้มค่าที่สุด และแน่นอนว่าเมื่อจะย้ายแหล่งกู้ใหม่ก็ต้องเลือกที่ที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าแห่งเดิม ซึ่งสิ่งที่ควรต้องดู มีตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยตามโปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร หรือตามอัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่นของโครงการสินเชื่อบ้าน

3. เตรียมค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์บ้าน

แม้ว่าการรีไฟแนนซ์บ้านจะสามารถช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยสินเชื่อลงมาได้ แต่ต้องอย่าลืมว่า การรีไฟแนนซ์ยังมีค่าใช้จ่ายในการยื่นเรื่องอยู่ ไม่แตกต่างจากการที่เราขอกู้สินเชื่อใหม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายโดยทั่วไปนั้น ได้แก่

  • ค่าประเมินราคาหลักประกัน ตามแต่ละธนาคารกำหนด ทั้งนี้ ถ้าหากขอปรับอัตราดอกเบี้ยหรือรีไฟแนนซ์กับธนาคารเดิมก็อาจไม่ต้องเสียเงินในส่วนนี้
  • ค่าธรรมเนียมในการปล่อยกู้ใหม่ แต่ถ้าหากทำเรื่องกับธนาคารเดิมอาจไม่ต้องเสีย
  • ค่าอากรณ์แสตมป์
  • ค่าจดจำนองที่ดิน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะจ่ายให้กับกรมที่ดินไม่ว่าจะยื่นเรื่องกับธนาคารใดก็ตาม แต่หากทำเรื่องกับธนาคารเดิมก็ไม่จำเป็นต้องจดจำนองใหม่ จึงไม่มีค่าใช้จ่าย
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ละธนาคารอาจมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาเป็นค่าใช้จ่ายได้ เช่น ค่าไถ่ถอนจำนอง ค่าทำประกันอัคคีภัย ค่าปรับกรณีรีไฟแนนซ์ก่อนกำหนด เป็นต้น

จากค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมข้างต้น เมื่อนำมาคิดรวมกันแล้ว คุณควรจะเตรียมเงินสำหรับรีไฟแนนซ์สักก้อนไว้ก่อนบ้าง หากเลือกธนาคารที่มีโปรโมชั่นรีไฟแนนซ์อินก็อาจจะได้รับสิทธิประโยชน์งดเว้นค่าใช้จ่ายบางรายการซึ่งคุณสามารถศึกษาและสอบจากธนาคารก่อนได้

4. เตรียมเอกสาร

ขั้นตอนต่อมา คือ การเตรียมเอกสารสำหรับการยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์ ซึ่งเอกสารต่างๆ ก็ไม่แตกต่างจากการยื่นขอสินเชื่อบ้านทั่วไป ได้แก่ เอกสารส่วนบุคคล เอกสารทางการเงิน และเอกสารหลักประกันซึ่งก็คือตัวบ้านที่คุณผ่อนอยู่ แต่นำมาใช้ค้ำประกัน

เอกสารส่วนบุคคล

  • บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรรัฐวิสาหกิจ
  • สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณะบัตร (ถ้ามี)
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)

เอกสารทางการเงิน

  • ใบรับรองเงินเดือน
  • สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน
  • สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน (หรือ 12 เดือน สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ)
  • หลักฐานการเสียภาษีเงินได้

*สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระอาจต้องยื่นสำเนาใบประกอบวิชาชีพ หรือสำหรับเจ้าของกิจการต้องแสดงหลักฐานกิจการ เช่น รูปภาพกิจการ เป็นต้น

เอกสารหลักประกัน

  • หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร
  • สำเนาโฉนดที่ดิน / นส.3ก / หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด / อช.2 ทุกหน้า
  • ภาพถ่ายเพื่อแสดงสิทธิหลักประกัน
  • สัญญากู้เงิน / สัญญาจำนอง / ใบเสร็จ / Statement ย้อนหลัง 12 เดือนกับสถาบันการเงินเดิม
  • สัญญาซื้อขายฉบับกรมที่ดิน ทด.13

*หากมีผู้กู้ร่วม ผู้กู้ร่วมต้องเตรียมเอกสารข้างต้นเช่นเดียวกัน

5. ยื่นขออนุมัติรีไฟแนนซ์กับธนาคารแห่งใหม่

เมื่อเตรียมค่าใช้จ่ายและเตรียมเอกสารต่างๆ ในเบื้องต้นสำหรับยื่นรีไฟแนนซ์กับธนาคารแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว คุณก็พร้อมที่จะยื่นเรื่องทำสัญญาสินเชื่อกับธนาคารแห่งใหม่ ซึ่งขั้นตอนในการยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์นั้น แม้จะต้องเทียวติดต่อกับทั้งธนาคารเดิมและธนาคารแห่งใหม่ แต่ก็ไม่ได้ซับซ้อนจนดำเนินการลำบาก

ขั้นตอนในการยื่นรีไฟแนนซ์ มีดังนี้

  • ทราบผลการอนุมัติรีไฟแนนซ์จากธนาคารแห่งใหม่
  • ติดต่อธนาคารเดิมเพื่อขอไถ่ถอนที่ดินและปิดบัญชีสินเชื่อเดิม
  • นัดธนาคารเดิมและธนาคารแห่งใหม่มาทำนิติกรรม
  • จดจำนองสินทรัพย์

แม้จะยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ให้สบายใจได้ เพราะธนาคารแห่งใหม่ที่คุณขอรีไฟแนนซ์จะช่วยอำนวยความสะดวกและบอกขั้นตอนต่างๆ ให้คุณเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : blog.ghbank.co.th/

SHARE THIS ARTICLE

Contact our specialist