Blog

8 เทคนิค กู้บ้านให้ผ่าน เตรียมตัวให้พร้อมก่อนกู้บ้าน

หากเตรียมพร้อมตาม 8 ข้อนี้ รับรองว่าโอกาสผ่านการอนุมัติสินเชื่อสูงกว่า 85% แน่นอน

1. ประเมินรายได้ ควรเลือกซื้อที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับรายได้ เพื่อให้การขอวงเงินกู้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการผ่อนชำระ โดยผู้กู้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีกู้คนเดียว หรือมีผู้กู้ร่วมจะต้องคำนึงถึงรายได้ของผู้กู้และผู้กู้ร่วมว่ามีทั้งหมดเท่าไร มีรายจ่ายเท่าไร มีผ่อนอะไรบ้าง และมีความสามารถในการผ่อนชำระได้เท่าไร โดยไม่ควรเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในราคาเกินตัว เกินกว่าความสามารถในการผ่อนชำระไหว และไม่ควรกู้เกินตัวเช่นกัน

2. ควรมีเงินเก็บ ผู้ซื้อบ้าน-คอนโดฯ ควรมีเงินเก็บอย่างน้อย 10% ของราคาที่อยู่อาศัย เผื่อกรณีที่กู้ได้ไม่เต็มวงเงิน จะได้มีเงินส่วนนี้ไว้จ่ายส่วนต่าง หรือเป็นเงินที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งผู้ซื้อบ้าน-คอนโดฯ ไม่ควรหวังน้ำบ่อหน้าว่าอาจจะได้รับการอนุมัติวงเงินเต็มจำนวน หรือมีส่วนต่างที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายๆ ในวันโอนกรรมสิทธิ์

3. สร้างประวัติทางการเงินให้สวย กรณีพนักงานประจำ แม้จะมีโอกาสในการได้รับอนุมัติสูงกว่าคนที่มีอาชีพอิสระ หรือคนที่เป็นพนักงานประจำแต่ไม่มีสลิปเงินเดือน แต่ก็จำเป็นต้องสร้างประวัติทางการเงินให้สวยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่า ต้องเริ่มจากประวัติรายได้จากสมุดบัญชีธนาคารที่ใช้รับเงินเดือน ก่อนจะยื่นกู้สัก 3-6 เดือน ควรให้มีเงินคงเหลือติดบัญชีอย่างน้อย 500-1,000 บาท ไม่ควรกดเงินออกมาทั้งหมด 100% ทันทีที่เงินเดือนออก เรียกว่า เงินเดือนเข้าปุ๊ป ก็กดออกหมดปั๊บ จะทำให้การเดินบัญชีไม่สวยเท่าที่ควร

4. สร้างประวัติรายได้ให้เนี้ยบ คนที่มีอาชีพอิสระ การมีรายได้ไม่แน่นอนก็กู้ยากอยู่แล้ว ยิ่งถ้าไม่มีประวัติรายได้ผ่านบัญชีธนาคารเลย โอกาสในการกู้ผ่านเท่ากับ 0 ทีเดียว ดังนั้น คนที่ทำอาชีพอิสระ ควรนำเงินเข้าบัญชีต่อเนื่อง และทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเก็บไว้ (เอาให้ชัวร์ควรมีอย่างน้อย 6-12 เดือนก่อนยื่นกู้) เพื่อใช้เป็นเอกสารด้านรายได้ประกอบการยื่นสินเชื่อ

ส่วนคนที่เป็นพนักงานประจำ แต่ไม่มีสลิปเงินเดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานกับบริษัทครอบครัว ห้างหุ้นส่วน รับเงินเดือนเป็นเงินสด ควรสร้างประวัติรายได้ด้วยการนำเงินสดเหล่านี้เข้าบัญชีทุกเดือน อย่างน้อย 6-12 เดือนก่อนยื่นกู้

เวลากู้จริง ก็ให้บริษัท สถานประกอบการ หรือเจ้านายที่ผู้กู้ทำงานให้ออกเอกสารรับรองเงินเดือนหรือรับรองรายได้ของผู้กู้มาเป็นองค์ประกอบคู่กับตัวเลขเดินบัญชีในสมุดบัญชีธนาคาร (หากมีประวัติของสถานประกอบการว่าดำเนินกิจการมานานและเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อแสดงความมั่นคงของรายได้ ก็จะเพิ่มความน่าเชื่อถือด้านรายได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตมากขึ้น)

5. เคลียร์หนี้ให้หมด กล่าวถึงกรณีหนี้ทั่วไปก่อน (ยังเป็นหนี้ปกติ ไม่ใช่หนี้คงค้างจนติดประวัติบัญชีดำในรายงานของเครดิตบูโร) ควรเคลียร์หนี้ต่างๆ โดยเฉพาะหนี้การผ่อนสินค้าให้หมดก่อนขอยื่นกู้ ยิ่งเคลียร์ให้หมดก่อน 3-6 เดือนจะดีมาก เพราะระยะเวลาดังกล่าว แบงก์ต่างๆ จะส่งรายงานให้เครดิตบูโร โชว์ว่าหนี้เคลียร์เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าเป็นเพิ่งไปเคลียร์ก่อนยื่นกู้ไม่กี่วัน จะยังไม่โชว์ อาจจะเสี่ยงกว่าเล็กน้อย

6. กรณีมีประวัตค้างชำระ มีประวัติเป็นหนี้คงค้าง สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลตามจริงมายังเครดิตบูโร กรณีที่ยังไม่จ่าย สถาบันการเงินอาจประเมินว่ามีโอกาสที่จะขาดความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ส่วนกรณีที่เคยมีประวัติค้างชำระ และเพิ่งเคลียร์ก่อนกู้ไม่นาน โอกาสจะกู้ไม่ผ่านก็สูงเช่นกัน ส่วนกรณีที่เคลียร์เรียบร้อยแล้วมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จะยังมีลุ้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อ

กรณีที่ซื้อบ้าน-คอนโดฯ แบบผ่อนดาวน์ มีประวัติการผ่อนเงินดาวน์อย่างดีตลอดระยะเวลาการผ่อน ไม่ผิดนัดเลย รวมถึงประวัติการชำระหนี้ต่างๆ หลังจากที่เคลียร์หนี้เสียแล้ว ดีมาตลอด จะช่วยให้มีโอกาสได้รับการพิจารณามากขึ้น

7. ห้ามเผลอไปผ่อนสินค้าก่อนกู้ อันนี้เป็นข้อห้ามสำคัญ ก่อนยื่นกู้ 3 เดือน ไม่ควรรีบไปผ่อนสินค้าใด ๆ เลย จะผ่อนเล็ก ผ่อนน้อยก็ไม่ควรเด็ดขาด เพราะจะตัดโอกาสในการได้วงเงินตามเป้าหมาย

8. เตรียมเอกสารให้พร้อม ข้อนี้ก็มีส่วนสำคัญ ก่อนยื่นกู้ ถ้าผู้กู้เตรียมเอกสารทุกอย่างครบ ทั้งเอกสารเกี่ยวกับรายได้ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือน เอกสารประวัติรายได้ รายการเดินบัญชีอย่างน้อย 3-6 เดือน ฯลฯ เอกสารเกี่ยวกับผู้กู้ ทั้งสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบาน เอกสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ หรือการสมรส ฯลฯ ยิ่งเอกสารต่าง ๆ ครบในวันยื่นกู้ จะได้รับผลอนุมัติที่เร็วขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : ddproperty

SHARE THIS ARTICLE

Rasikaproperty

Contact our specialist